ผู้เขียน หัวข้อ: ประวัติและประมวลภาพ หลวงพ่อเคลือบ วัดบ่อแร่ จ.ชัยนาท  (อ่าน 36042 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฝุ่นดิน

  • ที่ปรึกษาเว็บไซต์
  • สมาชิก
  • *
  • Thank You
  • -Given: 0
  • -Receive: 2
  • กระทู้: 668
  • พลังน้ำใจ 2
  • ฝุ่นดินท้องถิ่นนิยม 084-7208460
                                                               ประวัติพระครูวิจิตรชัยการ
                                                              (หลวงพ่อเคลือบ โกสลฺโล)
                                                 วัดบ่อแร่ธรรมเจริญศรี อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท
      พระครูวิจิตรชัยการ (หลวงพ่อเคลือบ โกสลฺโล) มีนามเดิมว่า เคลือบ นามสกุล เกศประทุม เกิดเมื่อวันจันทร์ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๒ ตรงกับวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๓๒ ณ บ้านบ่อแร่ หมู่ที่ ๑ ตำบลบ่อแร่ อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท พื้นเพเดิมบรรพบุรุษของท่านเป็นคนไทยเชื้อสายมอญ ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี (สังเกตจากนามสกุลของท่านที่มีคำว่า “ประทุม”เป็นสร้อยอยู่ด้วย ซึ่งเชื่อมโยงกันกับชื่อเดิมของจังหวัดคือ “ประทุมธานี” )แล้วจึงโยกย้ายมาอยู่ที่บ้านบ่อแร่นี้ในภายหลัง บิดาของท่านชื่อ ทัพ มารดาชื่อ คล้าย ( สำหรับมารดาของท่านนั้นเล่าลือกันว่าเมื่อครั้งยังเป็นสาวเป็นหญิงที่มีผิวพรรณผุดผ่องและมีรูปโฉมงามที่สุดในบรรดาสาวชาวบ้านในพื้นบ้านทางแถบนี้ ) มีพี่น้องร่วมกันทั้งสิ้น  ๖ คน โดยเรียงรายชื่อตามลำดับได้ดังนี้
   ๑.นายสระ เกศประทุม
   ๒.นายบุญ  เกศประทุม
   ๓.นางกาหลง   
   ๔.พระครูวิจิตรชัยการ (เคลือบ โกสลฺโล)
   ๕.นายแต๋ว  เกศประทุม
   ๖.นางเป้า
    หลวงพ่อท่านเป็นผู้ที่มีจิตใจฝักใฝ่ในทางพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เยาว์วัย ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบกันมาว่า สมัยเมื่อท่านยังเป็นเด็ก ท่านมักจะมาเลี้ยงควายในป่า ซึ่งเป็นบริเวณวัดอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นประจำ เมื่อปล่อยควายแล้วท่านก็จะทำการถากถางป่า ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นป่ารกชัฎ เต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ที่เบียดเสียดกันอยู่อย่างหนาแน่น มีเพียงกุฏิมุงแฝกอยู่แค่ ๒-๓ หลัง คนแก่ในสมัยนั้นถามท่านว่า “ถางไปทำไมล่ะเคลือบ” ท่านตอบว่า “โตขึ้นฉันจะสร้างวัดจ๊ะ” ใครได้ยินได้ฟังก็อดนึกขำในใจไว้เสียไม่ได้  ไม่มีใครคาดคิดว่า นั่นจะเป็นปณิธานอันแน่วแน่ของเจ้าอาวาสองค์สำคัญที่นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ชุมชน และเป็นปฐมาจารย์ผู้วางรากฐานทั้งทางด้านศาสนวัตถุและศาสนธรรม ให้แก่วัดบ่อแร่ธรรมเจริญศรีไว้อย่างแน่นหนา อีกทั้งยังเป็นร่มโพธ์ร่มไทรใหญ่ที่แตกกิ่งก้านสาขาเป็นร่มบุญร่มบารมีคุ้มเกล้าคุ้มกระหม่อมให้แก่เหล่าศิษยานุศิษย์ทั่วทุกสาระทิศ อันหาที่จะประมาณมิได้

ออฟไลน์ ฝุ่นดิน

  • ที่ปรึกษาเว็บไซต์
  • สมาชิก
  • *
  • Thank You
  • -Given: 0
  • -Receive: 2
  • กระทู้: 668
  • พลังน้ำใจ 2
  • ฝุ่นดินท้องถิ่นนิยม 084-7208460
Re: ประวัติและประมวลภาพ หลวงพ่อเคลือบ วัดบ่อแร่ จ.ชัยนาท
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 28, 2011, 06:46:25 pm »
ด้วยอุปนิสัยใฝ่ในทางธรรม ชีวิตในวัยหนุ่มของท่านจึงแตกต่างจากหนุ่มวัยฉกรรจ์โดยทั่วไป มิได้มีความคึกคะนองโลดโผนและฝักใฝ่ในอิตถีเพศเฉกเช่นหนุ่มวัยเดียวกัน ไม่มีความยินดีในวิถีชีวิตตามแบบฆราวาสวิสัย นับวันจิตใจของท่านยิ่งโน้มเอียงไปสู่เพศบรรพชิต  เมื่ออายุได้เกณฑ์บวชท่านจึงเข้าอุปสมบทเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๒ ณ อุโบสถวัดหนองจิก ในคราวจัดงานผูกพัทธสีมา โดยมีพระครูอุทานธรรมนิเทศ (ใจ คังคสโร) วัดมณีธุดงค์(ทุ่งแก้ว) จ.อุทัยธานี เป็นพระอุปัฌชาย์ พระอธิการยอด วัดหนองจิกเป็นพระกรรมวาจาจารย์ (สำหรับพระครูใจ ภายหลัง
ในปี พ.ศ.๒๔๕๔ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณะศักดิ์เป็น“พระสุนทรมุนี” ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะ
จังหวัดอุทัยธานีรูปที่ ๓ ต่อจากเจ้าคุณเจี้ยม  วัดเขาโคกโคและเจ้าคุณจัน วัดโบสถ์ )เมื่อเข้าสู่ร่มกาสาวพัตร์แล้วได้รับฉายาในทางพระพุทธศาสนาว่า “โกสลฺโล”อันมีความหมายว่า “ผู้มีปัญญาอันแยบคายขจัดได้เสียซึ่งรากเหง้าแห่งอาสวะกิเลสทั้งปวง”
หลังจากอุปสมบทแล้วได้อยู่ศึกษาศีลาจริยาวัตรตลอดจนแนวทางปฏิบัติเจริญจิตตภาวนาเบื้องต้นกับพระอธิการยอดหรือหลวงพ่อพรหมสรยอด วัดหนองจิก เมื่อหลวงพ่อเคลือบท่านได้ศึกษาแนวทางปฏิบัติและสรรพวิชาต่างๆที่หลวงพ่อพรหมสรยอด ถ่ายทอดให้พอได้เป็นความรู้พื้นฐานติดตัวบ้างแล้ว ท่านก็ได้เดินทางไปศึกษาทางด้านปริยัติธรรมในสำนักวัดทุ่งแก้ว จ.อุทัยธานี ได้ประมาณ ๒ พรรษา เนื่องจากสำนักของพระครูใจในสมัยนั้น มีพระเณรจากที่ต่างๆเดินทางมาจำพรรษาเพื่อทำการศึกษาเล่าเรียนกันเป็นจำนวนมาก เรื่องการขบฉันจึงต้องอาศัยกำลังของพระเณรช่วยกันปรุงแต่งขึ้นมาเองอีกทางหนึ่งด้วย เมื่อหลวงพ่อไตร่ตรองตามพระธรรมวินัยแล้ว เห็นว่าการปรุงอาหารขึ้นเองนั้นไม่สู้จะเหมาะสมต่อสมณะสารูปนัก จึงได้เดินทางออกจากวัดทุ่งแก้ว

ออฟไลน์ ฝุ่นดิน

  • ที่ปรึกษาเว็บไซต์
  • สมาชิก
  • *
  • Thank You
  • -Given: 0
  • -Receive: 2
  • กระทู้: 668
  • พลังน้ำใจ 2
  • ฝุ่นดินท้องถิ่นนิยม 084-7208460
Re: ประวัติและประมวลภาพ หลวงพ่อเคลือบ วัดบ่อแร่ จ.ชัยนาท
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 28, 2011, 06:48:31 pm »
ต่อมาภายหลังหลวงพ่อเคลือบท่านได้ออกธุดงค์เพื่อฝึกจิตกระทำความเพียรและเสาะแสวงหาครูบาอาจารย์ที่จะเป็นผู้ชี้แนะแนวทางสั่งสอนในวิทยาการต่างๆ ที่สมณะผู้เป็นหน่อเนื้อพระชินสีห์พึงทำการศึกษา ความสนใจใคร่รู้ของท่านถือได้ว่าเป็นบุคคลผู้ทรงไว้ด้วยความเป็นพหูสูต แม้จะเป็นสรรพวิชาที่จัดว่าเป็นโลกียะวิทยา หมายถึงวิชาในทางอภินิหารต่างๆซึ่งถึงแม้จะมีคุณวิเศษเหนือกว่าบุคคลโดยทั่วไปก็ตาม แต่ก็ยังไม่ใช่วิชาที่จะชำระอาสวะอวิชชาให้สิ้นไปได้ และยังไม่ใช่หนทางอันเป็นที่สุดแห่งกองทุกข์ แต่ถึงกระนั้นก็ยังพอเป็นประโยชน์ที่จะนำไปสงเคราะห์ต่อญาติโยมตามสมควรในกาลต่อไป ท่านก็น้อมศึกษามาทั้งสิ้น  ไม่ว่าสำนักใดใดที่มีชื่อเสียง ท่านก็สู้อุส่าห์ดั้นด้นไปด้วยความสนใจใฝ่ศึกษา และสำหรับในแถบนี้สำนักพุทธาคมที่กำลังลือลั่นอยู่ในสมัยนั้น คงไม่มีใครเกินสำนักวัดปากคลองมะขามเฒ่า อันมีหลวงปู่ศุขเป็นองค์ปรมาจารย์ ส่วนท่านจะได้ศึกษาวิชาอะไรมากน้อยแค่ไหนไม่อาจทราบได้ เพราะท่านเองก็ไม่ค่อยได้กล่าวถึงให้ดูเป็นการโอ้อวดแต่ประการใด แต่ต่างเป็นที่รู้กันว่าศิษย์ในสายวัดปากคลองฯต่างให้ความเคารพยกย่องท่าน จะเห็นได้ว่าในช่วงหลังปี พ.ศ.๒๔๙๐ เป็นต้นมา หากทางวัดปากคลองฯ ทำการจัดสร้างวัตถุมงคลขึ้น ก็มักนำมาให้ท่านปลุกเสกเสมอ
นอกเหนือจากวิชาสายวัดปากคลองฯแล้วหลวงพ่อท่านยังได้ทำการศึกษาแลกเปลี่ยนวิชาในสายอื่นๆเพิ่มเติมอีกในระหว่างที่ออกจาริกธุดงค์รอนแรมไปในที่ต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ  ภูมิรู้ของท่านถือได้ว่าเป็นผู้มีวิชาอาคมอยู่ในระดับสูง แต่โดยจริตของท่านยังไม่พึงใจนักสำหรับผลที่ปรากฏกับจิต ด้วยอุปนิสัยความเป็นคนจริงลงมือทำอะไรจะต้องได้ผลเลิศ ท่านจึงปารถนาให้การปฏิบัติของท่านยิ่งไปกว่านั้น เป็นอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา  เป็นมัคมรรคาที่จะนำไปสู่มรรคผลนิพพานในกาลต่อไป
จนกระทั่งในระหว่างที่ท่านออกจาริกธุดงค์อยู่นั้น ท่านก็ได้พบกับพระพุทธสราจารย์ หรือที่รู้จักกันในนามหลวงพ่อเพา พุทธสโร แห่งสำนักวัดเขาวงกฎ จ.ลพบุรี เมื่อท่านได้เห็นศีลาจารวัตรและได้ปฏิสันถารกันบ้างแล้วก็ยิ่งก่อให้เกิดความเคารพศรัทธาในแนวทางปฏิบัติ จึงได้ติดตามไปศึกษาพระกรรมฐานที่สำนักวัดปฐมพานิช จ.ลพบุรี หลวงพ่อวัดเขาวงกฎท่านนี้เป็นที่แซ่ซ้องกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้ที่มีปฏิปทาศีลาจารวัตรที่เคร่งครัดงดงามน่าเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง ตลอดจนเป็นพระนักปฏิบัติผู้เชี่ยวชาญแตกฉานในทางสมถะและวิปัสสนากรรมฐานอย่างยิ่งยวด การประพฤติปฏิบัติของท่านเป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพานโดยแท้  ต่างเป็นที่ยอมรับกันว่าภูมิจิตภูมิธรรมของท่านเข้าขั้นพระอริยะและสำเร็จฌานสมาบัติขั้นสูงเลยทีเดียว ว่ากันว่าท่านสามารถเพ่งปรอทเหลวๆให้แข็งตัวได้ในพริบตา  เวลาท่านจะทำพระพิมพ์แจกให้กับผู้ใดท่านจะหยิบก้อนตะกั่วดิบมาวางไว้บนฝ่ามือแล้วเพ่งให้ตะกั่วดิบนั้นเหลวคามือของท่าน เมื่อตะกั่วดิบเหลวเป็นน้ำแล้ว ท่านก็จะเทลงสู่แม่พิมพ์ เมื่อสำเร็จเสร็จเป็นองค์พระก็ยื่นให้กับผู้นั้นได้ในเดี๋ยวนั้นเลย วิธีสร้างลูกอมของท่านก็พิสดารอยู่เช่นกันกล่าวคือท่านจะหยิบก้อนดินสอพองมาบดขยี้ให้ป่นละเอียดบนฝ่ามือของท่านแล้วท่านก็สามารถปั้นดินสอพองป่นๆนั่นให้แข็งเป็นก้อนขึ้นมาได้ในฉับพลัน  เรื่องนี้สอดคล้องกันกับบทความของ จ.ส.อ.เอนก เจกะโพธิ์ ที่บันทึกจากคำบอกเล่าของพระครูโสภณธรรมาจารย์(หลวงพ่อสุด)วัดปฐมพานิชไว้ว่า  “อนึ่งเรื่องการสร้างวัตถุมงคลหรือเครื่องรางของขลังครั้งแรกเลยนั้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๕ หลวงพ่อเพาท่านได้สร้างพระนาคปรกองค์เล็กๆเนื้อผสมปรอทกับลูกอม ๒ อย่างเท่านั้น เพื่อแจกเฉพาะพระที่เป็นสหธรรมิกในเวลาออกธุดงค์ ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก”

ออฟไลน์ ฝุ่นดิน

  • ที่ปรึกษาเว็บไซต์
  • สมาชิก
  • *
  • Thank You
  • -Given: 0
  • -Receive: 2
  • กระทู้: 668
  • พลังน้ำใจ 2
  • ฝุ่นดินท้องถิ่นนิยม 084-7208460
Re: ประวัติและประมวลภาพ หลวงพ่อเคลือบ วัดบ่อแร่ จ.ชัยนาท
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 28, 2011, 06:51:10 pm »
ผู้ที่เข้ามาศึกษาพระกรรมฐานในสำนักวัดปฐมพานิชในครั้งนั้นมีทั้งเหล่าพระภิกษุและฆราวาสมากมายจากทั่วทุกสาระทิศ หลวงพ่อสุด เจ้าอาวาสวัดปฐมพาณิชได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับปฏิปทาของหลวงพ่อเคลือบไว้อย่างน่าชื่นชมว่า “เรื่องการปฏิบัติของท่านเคลือบนั้น นับจากเหนือจรดใต้ล้วนแต่ยอมยกให้ท่านคลือบเป็นที่หนึ่ง”กล่าวคือ “องค์อื่นเขานั่งกัน ๑ ชั่วโมง ท่านเคลือบนั่งได้ ๓ ชั่วโมง เขานั่งกัน ๓ ชั่วโมง ท่านเคลือบนั่งได้ ๕ ชั่วโมง ท่านเร่งความเพียรของท่านอย่างนี้เรื่อยไป จนกระทั่งหนักเข้าๆนั่งทั้งวันทั้งคืนไม่ฉันข้าวฉันน้ำเลยทีเดียว” ปฏิปทาของหลวงพ่อนั้นเป็นที่ยกย่องและสร้างความพึงพอใจให้เกิดแก่หลวงพ่อเพาเป็นยิ่งนัก หลวงพ่อพระครูศักดิ์เล่าว่าถึงขนาดที่หลวงพ่อเพาท่านสร้างกุฏิที่เขาวงกฎเพื่อเอาไว้สำหรับต้อนรับหลวงพ่อเคลือบโดยเฉพาะเลยทีเดียว
    การถือธุดงค์ของท่านนี้ได้ถือปฏิบัติมาโดยตลอด แม้เมื่อมาสร้างวัดบ่อแร่แล้วก็ตาม สิ้นฤดูกาลเข้าพรรษาเมื่อไร ท่านก็จะออกจาริกธุดงค์ของท่านเสมอ บางคราวก็กลับมาในพรรษานั้น บางคราวก็หายไปหลายๆพรรษา มีอยู่คราวหนึ่งท่านไปธุดงค์กลับมาผ่านทาง ช่องใหญ่ช่องเล็ก แถวๆเขาไก่ห้อย จ.อุทัยธานี ขณะนั้นท่านเกิดอาพาธอุณหภูมิในร่างกายมีความร้อนสูงและมีอาการกระหายน้ำอย่างหนัก อาการไข้ของท่านในคราวนั้นถือได้ว่ารุนแรงเป็นที่สุดแม้ขนาดตัวท่านเองก็คิดว่าจะเอาตัวไม่รอด เพื่อบรรเทาอุณหภูมิในร่างกายและแก้อาการกระหายน้ำ ท่านจึงตัดสินใจขุดดินทรายให้เป็นหลุมแล้วลงไปนอนใช้มือโกยดินทรายกลบร่างตนเองเอาไว้ เพียงหวังว่าความชื้นที่มีอยู่ในดินทรายจักได้ผ่อนปรนทุกขเวทนาอันแรงกล้านั้นได้บ้าง หรือถึงแม้จะไม่อาจทุเลาเบาบางลงเมื่อถึงที่สุดแห่งธาตุขันธ์แล้วก็จักได้ไม่เป็นที่อุจาดและต้องเป็นธุระของใครในภายหลัง พอดีมีโยมผ่านมาพบเข้าจึงได้ช่วยนำท่านขึ้นมาทำการปฐมพาบาลตามประสาชาวบ้านจนกระทั่งอาการของท่านคลี่คลายลง จึงนำท่านใส่เกวียนกลับวัด
ในช่วงแรกๆนั้น ท่านยังมีความสนใจในทางไสยเวทย์อยู่บ้าง แต่ต่อมาภายหลัง หลังจากที่ได้รับการศึกษาพระกรรมฐานและได้รับระเบียบแบบแผนจากสำนักเขาวงกฎไปท่านก็มีความยินดีในธรรมปฏิบัติที่เป็นโลกุตรธรรมมากกว่าไสยเวทย์วิทยาคมเหล่านั้น จนกระทั่งไม่ปรากฎให้ผู้ใดได้พบเห็นอีกเลยในเรื่องที่เกี่ยวกับไสยศาสตร์มาจนตลอดชีวิตของท่าน ทางด้านครูบาอาจารย์นั้นท่านมักจะไม่ค่อยพูดถึง จะมีก็แต่หลวงพ่อเขาวงกฎนี่แหละที่ท่านมักจะกล่าวยกย่องในปฏิปทาให้ศิษยานุศิษย์ได้รับฟังอยู่บ่อยครั้ง จุดมุ่งหมายของท่านก็คงต้องการให้เป็นแบบอย่างแก่บรรดาพระเณรได้ถือปฏิบัติเจริญรอยตาม
ในด้านกิริยามารยาทของท่านนั้นก็ล้วนแต่เป็นไปอย่างสุขุมนุ่มนวลมีความละเอียดประณีตอยู่ทุกอิริยาบถ มีปกติถ่อมตนไม่โอ้อวด มีความสันโดษเรียบง่าย พอใจใช้แต่ของปอนๆ มักซ่อมแซมของเก่าของชำรุดเพื่อนำมาใช้งานต่ออยู่เสมอ ไม่นิยมเปลี่ยนไปใช้ของใหม่ แม้จะมีอยู่มากก็ตามที เป็นผู้มีขันติธรรมเป็นเลิศ เป็นผู้ที่มีระเบียบจัดและเป็นผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัยอย่างยิ่งยวด จะเห็นได้ว่าท่านจะมีความสังวรระวังในอิริยาบทต่างๆ อยู่เสมอ เช่นการนั่ง ท่านจะถือการนั่งพับเพียบเป็นวัตร ท่านนั่งพับเพียบในลักษณะอย่างไร ท่านก็จะนั่งอยู่อย่างนั้นลำตัวตั้งตรงสงบนิ่งไม่วอกแวก เป็นวันๆท่านก็นั่งของท่านได้ โดยไม่มีการขยับตัวหรือสลับขาแต่อย่างไรเลย นอกเสียจากมีกิจอันใดในขณะ  เมื่อจะลุกขึ้นยืนก็เป็นไปอย่างนิ่มนวลไม่พรวดพราด ปฏิปทาในการนั่งพับเพียบของท่านนี้เป็นที่โจษขานกันอย่างกว้างไกล ท่านสามารถทรงอิริยาบถในลักษณะนี้ติดต่อกันได้นานถึง ๗ วัน โดยมิได้ขยับเขยื้อนร่างกายแต่อย่างไรเลย เรียกว่าพระสงฆ์องค์เณรในละแวกอุทัยฯ – ชัยนาท และในจังหวัดใกล้เคียงทางแถบนี้ ยังไม่มีปฏิปทาของท่านผู้ใดจะเสมอเหมือน  แม้ในอิริยาบทเดินก็เช่นกัน ท่านจะเดินช้าๆลำตัวไม่โยกโคลง มือไม้ไม่แกว่งไกวไปมา ไม่เหลียวหน้าไม่แลหลัง หากท่านจะเหลียวมาบ้างก็มิใช่หันศีรษะมาอย่างธรรมดาสามัญทั่วๆไป แต่ท่านจะเริ่มจากการเปิดปลายเท้าขึ้นแล้วจึงหมุนเท้าไปในทิศทางที่ท่านจะหัน จากนั้นจึงค่อยๆบิดลำตัวหันตามไป ประดุจดังกิริยาของพญาคชสารอันสง่างามเหมาะสมต่อความเป็นสมณะสารูปโดยแท้ 

ออฟไลน์ ฝุ่นดิน

  • ที่ปรึกษาเว็บไซต์
  • สมาชิก
  • *
  • Thank You
  • -Given: 0
  • -Receive: 2
  • กระทู้: 668
  • พลังน้ำใจ 2
  • ฝุ่นดินท้องถิ่นนิยม 084-7208460
Re: ประวัติและประมวลภาพ หลวงพ่อเคลือบ วัดบ่อแร่ จ.ชัยนาท
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 28, 2011, 06:56:22 pm »
คราวหนึ่งท่านและพระลูกวัดออกไปกิจนิมนต์นอกวัด(แต่ก่อนใช้การเดินเท้า) ครั้นเมื่อขากลับระหว่างทางเกิดฝนตกลงมาอย่างรุนแรง หลวงพ่อท่านผู้เป็นองค์นำแถวยังคงเดินไปด้วยกิริยาอันสงบตามปกติ เสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น พระลูกวัดซึ่งเดินตามเป็นลูกแถวก็ต้องเดินไปอย่างท่านไม่มีใครกล้าแตกแถวออกไป นับว่าเป็นปฏิปทาที่งามตาน่าเลื่อมใสและหาดูได้ยากนักยิ่งด้วยในสมัยนี้คงไม่ต้องกล่าวถึง
สมัยก่อนนั้นเวลาที่หลวงพ่อมีธุระที่จะต้องเดินทางเข้าตัวอำเภอวัดสิงห์ในแต่ละที มักจะมีบรรดาญาติโยมหอบหิ้วกระจาด ตะกร้า กระบุง สาระพัดที่จะจัดแจงกันมา พากันติดสอยห้อยตามหลวงพ่อมาเป็นขบวน  สาเหตุก็เนื่องมาจากในสมัยนั้นโจรผู้ร้ายชุกชุม พร้อมที่จะซุ่มประทุษร้ายต่อร่างกายและทรัพย์สินได้ตลอดเวลาบรรดาญาติโยมทั้งหลายเหล่านั้นที่ติดตามหลวงพ่อทุกคราวก็ด้วยหวังอาศัยบารมีหลวงพ่อคุ้มเกล้าคุ้มกระหม่อมให้การเดินทางของตนเป็นไปโดยสวัสดิภาพ เพราะไม่ว่าโจรหน้าไหนล้วนแต่ให้ความเคารพยำเกรงในบารมีแห่งองค์ท่าน ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีโจรกลุ่มไหนกล้าเข้ามาวอแว แม้จะมีผู้ติดตามมาเป็นขบวนมากน้อยสักเพียงไหนหรือระหว่างทางจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างท่านไม่เคยหวั่นไหว มิได้แสดงอาการเหลียวซ้ายแลขวาให้เห็นเลยท่านยังคงไว้ด้วยความสุขุมคำภีรภาพมีจิตมุ่งมั่นอยู่เฉพาะหนทางเบื้องหน้าเท่านั้น พวกชาวบ้านที่อยู่ระหว่างทางเมื่อรู้ว่าหลวงพ่อเดินทางผ่านมา ต่างก็จะจูงลูกจูงหลานมากราบหลวงพ่อ แต่ไม่ว่าผู้ใดถ้าจะกราบท่านจะต้องไปดักอยู่ข้างหน้าท่าน ถ้าหากท่านผ่านไปแล้วอย่าหวังเลยว่าท่านจะหันกลับมา แม้จะมีฝูงวัวฝูงควายขวางกั้นอยู่ข้างหน้าหลวงพ่อท่านก็มิได้มีอาการประหวั่นพรั่นพรึงแต่อย่างไรเลย วัวควายต่างเป็นที่รู้กันว่าไม่ค่อยถูกโฉลกกับสีสดโดยเฉพาะสีเหลืองของจีวรพระด้วยแล้ว ถือว่าล่อแหลมต่ออันตรายเป็นที่สุด แต่กระนั้นท่านก็ยังคงไว้ซึ่งสติอันตั้งมั่นเดินผ่านฝูงวัวฝูงควายเหล่านั้นไปอย่างดุษณียภาพ นับว่าเป็นความอาจหาญและแสดงถึงสมาธิจิตอันแน่วแน่ของท่านได้อย่างชัดเจน
แม้แต่การนุ่งห่มหลวงพ่อท่านก็จะถือเคร่งครัดในเรื่องของการครองผ้าสามผืน หรือที่เรียกกันว่าไตรจีวร อันประกอบไปด้วย สบง จีวรและสังฆาฏิ ตรงกับหลักธุดงค์ ๑๓ ในข้อที่ว่า “เตจีวริกังคธุดงค์”เป็นผู้สมาทานเว้นเสียซึ่งผ้าผืนที่สี่  ดังจะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่ญาติโยมเข้ามาปฏิสันถารจะพบเห็นหลวงพ่อท่านห่มผ้าลดไหล่ตรึงลูกบวบเสียแน่นหนาและพาดผ้าสังฆาฏิไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่เป็นนิจ  เวลาที่ท่านลงจากกุฏิไม่ว่าจะออกไปทำกิจใดใดหรือแม้แต่ออกสำรวจวัดตามปกติ  ท่านก็จะห่มผ้าเฉวียงบ่าตรึงลูกบวบไว้อย่างทะมัดทะแมงและจะใช้ย่ามคล้องแขนอยู่เสมอ ซึ่งถ้าอ้างถึงในทางวินัยสงฆ์การนุ่งห่มให้เป็นปริมณฑลเมื่ออยู่ในที่โล่งแจ้งและการใช้ย่ามคล้องแขนนี้เป็นการถูกต้องตามเสขิยวัตรที่สมณะพึงปฏิบัติแล้ว และยังถือว่าเป็นแบบแผนอันงดงามยิ่งที่โบราณจารย์ในอดีตได้ถือปฏิบัติเป็นแบบอย่างไว้ให้แก่กุลบุตรทั้งหลายที่เป็นภิกษุผู้เข้ามาใหม่ในบวรพระพุทธศาสนาจะได้ทำการศึกษาและถือปฏิบัติเป็นนิสสัยสืบไป
เรื่องย่ามนี้หลวงพ่อท่านจะนำติดตัวไปด้วยตลอดเวลาท่านว่าสิ่งเหล่านี้เป็นบริขารของพระ สังเกตได้จากรูปถ่ายในแต่ละวาระจะเห็นได้ว่ามีย่ามวางอยู่ข้างๆองค์ท่านเสมอ ศิษย์ใกล้ชิดจำได้ว่าในย่ามของท่านมีหน้าผากเสืออยู่หนึ่งแผ่น นอกนั้นก็จะเป็นสิ่งของเครื่องใช้เท่าที่จำเป็นในกิจของสงฆ์เช่น สมุดพก ปากกา นาฬิกา เป็นต้นฯไม่มีใครเคยพบเงินทองของมีค่าติดย่ามของหลวงพ่อเลยแม้ซักกะบาทเดียว ในเวลาที่ท่านประสงค์จะทราบจำนวนเงินที่มีอยู่ท่านจะใช้ให้ลูกศิษย์วัดมานับแล้วแยกออกเป็นกองๆ ส่วนท่านเพียงแต่นั่งดูเท่านั้น ไม่เคยมีใครได้เห็นว่าหลวงพ่อท่านจะสัมผัสจับต้องเงินทองแต่ประการใด
การอยู่การกินของท่านเป็นไปอย่างเรียบง่ายที่สุด ปราศจากมายาและการปรุงแต่งทั้งปวง ภายในกุฏิท่านมีเพียงตู้หนังสือเก่าๆอยู่ใบหนึ่ง กับพระพุทธรูปที่หัวนอนอยู่องค์สององค์ แม้ที่นอนของท่านก็อาศัยพื้นกระดานเป็นที่จำวัดมีเพียงเสื่อปูเป็นพื้นแล้วราดทับด้วยผ้าอาบเท่านั้น มิได้มีฟูกหมอนเครื่องอำนวยความสะดวกสบายหรือของสะสมใดใดเลย เวลาท่านจำวัดท่านจะจำวัดโดยหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก ในทัศนะของผู้เขียนสันนิษฐานว่าท่านคงเจริญมรณะนุสสติกรรมฐานไปด้วย และจะจำวัดในท่าตะแคงหรือที่เรียกกันว่าท่าสีหไสยาสน์เสมอ เป็นการนอนแบบมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม ดุจดังพญาราชสีห์ถึงแม้เมื่อยามหลับใหลแต่ก็พร้อมจะตะครุบเหยื่ออยู่ตลอดเวลา  ในหมู่พระภิกษุผู้เจริญสติอยู่เนืองๆก็ดุจเดียวกัน สติของท่านย่อมเป็นเครื่องตื่นรู้อยู่ทุกขณะจิต มิได้เปิดช่องให้แก่หมู่มารเลย

กระดานสนทนาเว็บไซต์ ศิษย์หลวงพ่อกวย

Re: ประวัติและประมวลภาพ หลวงพ่อเคลือบ วัดบ่อแร่ จ.ชัยนาท
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 28, 2011, 06:56:22 pm »

 


Facebook Comments